Thursday, November 11, 2004

เปลือยหัวใจนิสสันยุคใหม่


Nissan Chappo Concept ต้นแบบของนิสสันคิวบ์

คุณภาพของวิศวกรรม และประสิทธิภาพการผลิต คือหัวใจความสำเร็จของรถยี่ห้อญี่ปุ่นทุกตรา และนิสสันก็เป็นหนึ่งในนั้น ทว่านิสสันยุคปัจจุบันมีจุดขายที่แตกต่างคือ การออกแบบอันโดดเด่น

เอกลักษณ์นี้แทบทุกคนต่างก็ยกนิ้วให้ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวที่ไปชมรถต้นแบบจากงานแสดงรถ หรือผู้ซื้อที่เห็นความไม่เหมือนใครของรถนิสสันหรือรถอินฟินิติที่จอดขายในโชว์รูม หรือแม้แต่ดีไซเนอร์และผู้บริหารของบริษัทคู่แข่ง

จุดพลิกผันนั้นเริ่มเมื่อปี 1999 ที่ คาร์ลอส โกส์น เข้ามารับงานเป็นประธานของนิสสัน และไล่หลังจากนั้นไม่นานจิโร นากามูระ ผละจากอีซูสุมาเป็นนักออกแบบมือหนึ่งให้

ห้าปีให้หลัง โกส์นถูกยกให้เป็นนักบริหารมือเยี่ยม และนากามูระได้ปั้นการออกแบบที่ทำให้นิสสันกลายเป็นผู้นำ

หากยังนึกภาพสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ชัดเจน ก็ลองหารถนิสสันยุคปัจจุบันมาเทียบดูกับนิสสันยุคก่อน เทียนากับเซฟิโรเหมือนกันตรงไหน ต่างกันตรงไหนนั่นแหละคือตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลง

การออกแบบที่สดใหม่ไม่เพียงแค่ได้กล่อง แต่ทำเงินด้วย เพราะผู้ซื้อพากันแห่เข้าโชว์รูมนิสสัน ทำให้ยอดขายของนิสสันทั่วโลกกระโดดขึ้น 20 เปอร์เซนต์ในห้าปี โกส์นทำนายว่าปีหน้านิสสันจะขายรถได้ทั้งปี 3.6 ล้านคัน เทียบกับ 2.5 ล้านคันเมื่อปี 1999

แม้ใครต่อใครมักจะซูฮกโกส์น ที่ยกธุรกิจรถยนต์นิสสันออกจากเชิงตะกอนมาชุบชีวิตใหม่ได้สำเร็จ แต่ผู้ที่มีส่วนสร้างรถนิสสันให้โดนใจคนทั่วโลก คือ นากามูระ

นากามูระ ปัจจุบันอายุ 54 ปี เป็นชาวญี่ปุ่นแต่กำเนิด ในวัยหนุ่มได้ศึกษาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปะมูซาชิโนในโตเกียว และวิชาการออกแบบยวดยานจากวิทยาลัยการออกแบบอาร์ตเซ็นเตอร์แห่งพาซาเดนา

นากามูระได้เข้าทำงานกับจีเอ็มที่เมืองดีทรอยท์ จากนั้นในปี 1974 ได้เข้าร่วมงานกับอีซูสุ ซึ่งในตอนท้ายได้เป็นนักออกแบบมือหนึ่งของที่นั่น โดยตัวอย่างฝีมือของนากามูระ คือ อีซูสุเวฮิครอส รถเอสยูวีที่ผ่านมาหลายปีหน้าตาก็ยังไม่ตกสมัย

ในการให้สัมภาษณ์ที่งานปารีส์มอเตอร์โชว์เดือนที่แล้ว นากามูระได้เผยเคล็ดลับการทำงานของเขาที่นิสสันให้โลกได้รู้ นั่นคือ การจัดระบบงานให้ระบบคณะกรรมการไม่ขวางการเติบโตของไอเดียใหม่ ๆ เขารวบสำนักออกแบบของนิสสันซึ่งกระจายอยู่ในยุโรปให้มาอยู่รวมกันที่ลอนดอน และลงมือคุมสำนักออกแบบของนิสสันอเมริกาที่ลาโฮยา ซานดิเอโก โดยตรงด้วยตนเอง

"ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงคนทำงาน เพียงแต่เปลี่ยนกลยุทธ์และปรับระบบเท่านั้น" เป็นคำอธิบายจากปากของนากามูระ

ปรัชญาและแนวคิดของการออกแบบของนากามูระนั้น ซ่อนอยู่ในผลงานของเขา อย่างเช่น รถต้นแบบนิสสันแชปโปที่ออกแสดงในงานเจนีวาออโตโชว์เมื่อปี 2001 ซึ่งถือว่าเป็นการประกาศอิสระภาพของนากามูระเลยทีเดียว

ตัวนากามูระเอง เรียกเจ้าแชปโปว่า "กล่องวิเศษ" ที่เกิดจากคอนเซ็ปท์การเน้นพื้นที่ว่างแทนที่จะเน้นความเร็วของรถตามสมัยนิยม นากามูระนำแนวคิดการสร้างแชปโปมาจากโรงน้ำชาของญี่ปุ่นโบราณ เสื่อกกทาทามิ และเครื่องไม้เคลือบแลคเกอร์

รถต้นแบบแชปโปนั้นเป็นผลงานที่อวดความเป็นญี่ปุ่นของนากามูระอย่างภาคภูมิ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์ถูกตาต้องใจของคนทั่วโลกด้วย และนั่นเองที่สร้าง "เอกลักษณ์ที่ไร้พรมแดน" ให้แก่นิสสัน

"เราเน้นความเป็นญี่ปุ่นโดยหลักการ แต่ไม่ใช่รูปร่างเฉพาะแบบใดแบบหนึ่ง" เขาเผยเคล็ดลับ "ตัวอย่างเช่น การใช้พื้นที่แคบ ๆ อย่างฉลาด"

การนำสิ่งที่ฝังอยู่ในชนชาติญี่ปุ่นมาเป็นคุณค่าระดับโลกนั่งเองที่ทำให้นากามูระบรรลุผ่านแนวการผลิตรถแต่เดิมที่เป็นแค่หนึ่งในรถยนต์ญี่ปุ่นหรือเยอรมันธรรมดาดาด ๆ มาเป็นตัวของตัวเอง


Infiniti FX45 แฝดหรูของนิสสันมูราโน

นากามูระวางแผนกลยุทธ์ของนิสสันเพื่อขึ้นชั้นระดับโลก ทว่าส่งรุ่นรถที่เหมาะกับท้องถิ่นเข้าสู้กับคู่แข่ง เป็นต้นว่า ในยุโรปนิสสันมีไมครา-รถตากบขนาดจิ๋วน่ารัก ขณะที่ในอเมริกานิสสันส่งไททัน-รถกระบะใหญ่ แกร่ง ดุดัน

ว่ากันว่าผลงานที่ทิ้งลายมากที่สุดของนากามูระบนถนนไฮเวย์ของอเมริกา คือ นิสสันอัลติมา (นึกถึงเทียนาแต่ออกแนวสปอร์ตและวัยรุ่นกว่า) ซึ่งทรวดทรงและการออกแบบนั้นตัดกันกับรถคู่แข่งในตลาดที่สุขุมพื้น ๆ อย่างโตโยต้าแคมรีและฮอนด้าแอคคอร์ดไปคนละทางทีเดียว โดยอัลติมามีแนวรูปโฉมออกเยอรมัน ส่วนท้ายตัดโยงให้เห็นภาพของเรือเร็ว และบริเวณไฟหลังให้อารมณ์ของความซับซ้อนทางเทคโนโลยีผสมนิยายวิทยาศาสตร์

หรือจะเป็นเจ้า "ไบโอนิคชีต้าห์" อย่างนิสสันมูราโนหรือแฝดหรูอินฟินิติเอฟเอ็กซ์ ที่นิสสันออกนอกกรอบเอสยูวีด้วยเส้นโค้งหลังคาอันอ่อนช้อย ขึ้นรูปทรงปราดเปรียวอย่างสุนัขล่าสัตว์ และให้ความรู้สึกถึงพละกำลังโดยไม่จำเป็นต้องมาในร่างเทอะทะใหญ่โต

และสิ่งที่หาได้ยากจากคนระดับนี้คือ นากามูระยังพร้อมที่จะยอมรับข้อผิดพลาดของตัว เป็นต้นว่า เขารับตรง ๆ ว่าโฉมใหม่ของรถมินิแวนเควสท์นั้นอาจจะล้ำเกินไป

ทว่าที่ล้ำกว่าน่าจะเป็นนิสสันคิวบ์ที่สืบสายพันธุ์มาจากแชปโป นากามูระอธิบายความเป็นมาของคิวบ์ว่า คือความรื่นรมย์ของการเดินทางช้า ๆ และสุขใจกับทิวทัศน์ที่อยู่สองข้างถนน ในตอนแรกนากามูระคิดว่าอาการฮิตของรถแบบกล่องนี้ในญี่ปุ่นน่าจะเป็นเพราะการจราจรที่ติดขัด แต่เมื่อมองย้อนประวัติศาสตร์ไป เขากลับเห็นการเดินทางช้า ๆ ด้วยรถม้าลาก หรือเกวียนวัวลากซ่อนอยู่ในความเป็นรถกล่องเหล่านี้

นี่คือหนึ่งในหลาย ๆ ด้านของความเป็นนากามูระ อันสวนกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์ได้อย่างน่านับถือ คือ แทนที่จะเน้นแข่งกันทำรถเร็ว ๆ แต่หันมาสร้างรถที่วิ่งช้า ๆ แต่งดงาม

และด้วยสิ่งเหล่านี้เอง ที่ทำให้นิสสันใหม่ต่างจากนิสสันเดิม และโดดเด่นต่างจากใคร ๆ

+++

บทความข้างต้นนั้น ผมถอดความมาจากบทความของฟิล แพ็ททันแห่งนิวยอร์คทามส์ ซึ่งผมขอผิดธรรมเนียม "เว็บล็อค" ที่ปรกติจะไม่ยกเรื่องต้นฉบับทั้งหมดมาเขียน แต่ก็ขอทำในเรื่องนี้ เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่ของเราได้สัมผัส "วิธีคิด" ในแบบของนากามูระเหลือเกิน

อ่านแล้วก็ให้ได้คิดว่า ในบางที่บางเวลา แม้มีเพียงปากกากับแผ่นกระดาษ แต่หากอยู่ในมือของคนคุณภาพแม้เพียงคนเดียวก็สามารถพลิกโลกได้

ที่มา : sanmateocountytimes.com